"อนาคตอุดมศึกษาไทย ต้องพัฒนาและเน้นงานวิจัยให้มากขึ้น มหาวิทยาลัยมีงานวิจัยมากแสดงว่าอาจารย์มีคุณภาพมาก จะทำให้สถาบันได้รับการยกระดับไปด้วย ที่สำคัญที่สุดจะทำให้บัณฑิตมีคุณภาพไปด้วยอย่างอัตโนมัติ เพราะอาจารย์จะนำงานวิจัยที่ทำมาใช้ในการเรียนการสอน จากนี้ไปอีก 4 ปี จะส่งเสริมให้อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครทำงานวิจัยให้มากขึ้น เปิดโอกาสให้ยื่นขอทุนทำงานวิจัยในสาขาที่สอนกับมหาวิทยาลัยได้ และจะจัดอบรมเพื่อพัฒนานักวิจัยแก่อาจารย์ให้สามารถยื่นขอสนับสนุนงบทำวิจัย กับหน่วยงานภายนอกอีกด้วย" เป็นความมุ่งมั่นของ ดร.พงศ์ หรดาล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ที่พยายามจะทำให้ได้ภายใน 4 ปีที่ดำรงตำแหน่ง
ดร.พงศ์ ระบุว่า ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร มีนโยบาย 1 วิจัย 1 โปรแกรม ส่งเสริมให้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยทุกคนทำงานวิจัยในสาขา คณะ หรือ โปรแกรม ที่สอนและนำงานวิจัยนั้นมาพัฒนาการเรียนการสอน หลากหลายรูปแบบ ทั้งเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย และของบประมาณสนับสนุนภายในสถาบัน หรือเป็นผู้ร่วมโครงการวิจัยกับหน่วยงาน สถาบัน ภายนอกและของบประมาณจากหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนงานวิจัยภายนอก เพื่อพัฒนาอาจารย์ผู้สอนให้มีงานวิจัยมากขึ้น และปีนี้จะส่งเสริมให้มากขึ้น เร็วๆ นี้จะมีอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ไปทำงานวิจัยร่วมกับองค์การ บริหารจังหวัดสุพรรณบุรี โดยดึงนักศึกษาไปเป็นผู้ช่วยวิจัย อย่างนี้เป็นต้น จะช่วยให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
"การเรียนการสอนไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียนสี่เหลี่ยมเสมอไป การที่อาจารย์พานักศึกษาลงพื้นที่ไปเป็นผู้ช่วยวิจัย ทำงานร่วมกัน ถือเป็นการเรียนรู้ที่ดีอีกทางหนึ่ง มากกว่าการอ่านหนังสือ หรือการเรียนในห้องเรียนด้วยซ้ำไป เพราะการอ่านหนังสือเป็น 100 เล่ม รับรองว่าไม่ลึกซึ้งเท่ากับการไปเที่ยวแค่ครั้งเดียวก็เกินพอแล้ว เช่นเดียวกับการเรียนนอกห้องเรียนและเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ลงมือทำงาน นั้นๆด้วยตนเอง จะทำให้พวกเขาเกิดการเรียนรู้และจดจำสิ่งนั้นไปได้นานเท่านาน ที่สำคัญขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เปิดโอกาสให้อาจารย์ทำงานวิจัยเพื่อนำไปประกอบคุณลักษณะที่พึงประสงค์ในการ สอนวิชาต่างๆ ได้ แม้ว่าจะจบไม่ตรงสายที่สอนก็ตาม ซึ่งถือเป็นการเปิดกว้างให้โอกาสได้พัฒนาตนเองมากขึ้นนั่นเอง อาจารย์จึงต้องทำงานวิจัยให้มากขึ้น โดยเฉพาะงานวิจัยในสาขาวิชาที่ตัวเองสอน" อธิการบดี มรภ.พระนคร กล่าว
ทั้งนี้ ในอนาคตสถาบันการศึกษาต้องมีการปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของ ตลาดงานให้มากที่สุด โดยนำงานวิจัยเข้ามามีส่วนในการดำเนินการ ยกตัวอย่างสาขาโลจิสติกส์เป็นที่ต้องการของตลาด อาจารย์ผู้สอนก็ควรทำงานวิจัย รวมทั้งสถาบันการศึกษาก็ต้องเปิดหลักสูตรและผลิตบุคลากรไปในแนวทางที่ตลาด ต้องการ หรือทำความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และผลิตครูในสาขาที่สพฐ.ขาดแคลนและตามคุณลักษณะต้องการ เพื่อให้บัณฑิตที่จบมามีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาดและมีงานทำ และคุ้มค่าของการลงทุนทั้งผู้เรียนและสถาบันการศึกษา หรือพยาบาล ก็เป็นที่ต้องการของตลาด ในอนาคตจะร่วมมือกับโรงพยาบาลภูมิพล ตั้งคณะพยาบาลเพื่อรองรับความต้องการของตลาดอาเซียนในอนาคตด้วย
ดร.พงศ์ กล่าวว่า การพัฒนาคุณภาพบัณฑิตของมหาวิทยาลัยราชภัฏต้องเสริมด้านคุณธรรมจริยธรรมให้ แก่บัณฑิต มีความมานะ อดทน ขยันขันแข็งสู้งาน มีจิตสาธารณะเสียสละ ทำงานเพื่อสังคม เพื่อให้เป็นจุดแข็ง ตรงกับความต้องการของตลาดงาน เพราะบัณฑิตราชภัฏไม่ใช่ที่ 1 ของประเทศ จึงต้องมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ด้านอื่นๆ ที่ให้ตลาดงานต้องการ เป็นทางเลือกให้แก่องค์กรต่างๆ ในการเลือกคนเข้าไปทำงานบัณฑิตราชภัฏพระนครทุกคนที่สำเร็จการศึกษาออกไป จะต้องมีเครดิตจิตสาธารณะทุกคนในใบรับรองผลการศึกษา เพื่อให้องค์กรต่างๆ เชื่อมั่นได้ว่า บัณฑิตเหล่านี้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ข้อนี้อย่างแน่นอน
"และสิ่งที่อยากทำในเกิดผลในทางปฏิบัติให้ได้ใน 4 ปี ข้างหน้าคือ การพัฒนาระบบข้อมูลให้ได้มาตรฐานสามารถนำไปพัฒนาได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะนำไปสู่การจัดการเรียนการสอนรูปแบบอีเลิร์นนิ่ง ออนไลน์ได้ อยู่ที่ไหนก็สามารถเรียนได้ พัฒนาไปถึงขั้นจัดการเรียนการสอนร่วมกับมหาวิทยาลัยในประเทศสมาชิกในอาเซียน ได้ รวมทั้งการพิจารณาอนุมัติโครงการต่างๆ ก็สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วอยู่ที่ไหนในโลกนี้ก็สามารถทำงานผ่านระบบ ได้ ซึ่งจะทำให้ประมาณทั้งงบประมาณและเวลาได้ ซึ่งคงต้องใช้เวลาและงบประมาณในการดำเนินการ คาดว่า 1-2 ปีคงจะเห็นเป็นรูปเป็นร่างได้ ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นกรีน ยูนิเวอร์ซิตี้ ในที่สุด" ดร.พงศ์ กล่าวทิ้งท้าย
ขอขอบพระคุณข่าวและภาพจาก... http://www.komchadluek.net/detail/20130422/156610/%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%A8%E0%B8%99%E0%B9%8C:%E0%B8%AD%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%A0.%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A3.html#.UdqRG202chJ